องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ใสข้อมูลทั่วไปและประวัติความเป็นมา





ข้อมูลทั่วไปและประวัติความเป็นมา





ประกาศจัดตั้ง องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ใส.PDF

ข้อมูลทั่วไปขององค์การบริหารส่วนตำบลแม่ใส.PDF ข้อมูลทั่วไป.doc

ประวัติความเป็นมา

เมืองพะเยายุคหลังสมัยรัตนโกสินทร์ หลังจากดินแดนล้านนาทั้งหมดถูกพม่ายึดครองได้ในปี พ.ศ. 2101ทำให้ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นระยะเวลา 200 ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้เมืองพะเยาถูกลตฐานะและความสำคัญของเมืองไป กระทั่งเมืองพะเยาก็เป็นเมืองร้าง เหมือนกับหลายเมืองในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310

ต่อมาภายหลัง ปี พ.ศ. 2317 ล้านนากับสยามสามารถขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จ จึงเกิดการฟื้นฟูเมืองต่าง ๆ ในล้านนาอีกครั้ง สำหรับเมืองพะเยาได้รับการฟื้นฟูเช่นเดียวกัน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

พ.ศ. 2330 พระเจ้าเมืองอังวะสั่งให้อะแซวุ่นกี้เป็นแม่ทัพยกกองทัพใหญ่มาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ เช่น เมืองฝาง เมืองเชียงราย เมืองเชียงแสน และเมืองพะเยารวมเข้าด้วย เจ้านายและประชาชนตื่นตกใจต่างก็พากันอพยพครอบครัวหลบหนีข้าศึกพม่าไปอยู่เมืองลำปาง ครอบครัวชาวเมืองเชียงราย ไปตั้งอยู่ที่ตรง 5 แยกเมืองลำปางเดี๋ยวนี้ ได้ร่วมกันสร้างวัดโดยถือเอาตามนามเมืองเดิมที่มาจากเชียงรายว่า "วัดเชียงราย" มาจนบัดนี้ ฝ่ายครอบครัวของชาวเมืองปุเมืองสาดที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านวัดเมืองศาสตร์เดี๋ยวนี้ส่วนชาวเมืองพะเยาได้อพยพไปตั้งหลักอยู่บ้านปงสนุกด้านใต้ฝั่งขวาของแม่น้ำวัง คือ บ้านปงสนุกเดี๋ยวนี้ เมืองพะเยาในสมัยนั้นในบริเวณตัวเมืองรกร้างไปเป็นเวลานานถึง 56 ปี

พ.ศ. 2386 พระยานครลำปางน้อยอินทร์กับพระยาอุปราชมหาวงศ์ เมืองเชียงใหม่ ลงไปเฝ้าทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ขอตั้งเมืองเชียงรายเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ และตั้งเมืองงาว เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง ต่อมาพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายพุทธวงศ์น้องคนที่ 1 (เจ้าหลวงวงศ์) ของพระยานครอินทร์ นําชาวเมืองพะเยามาจากเมืองลําปาง กลับมาฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นมาใหม่ ให้เมืองพะเยาเป็นเมืองขึ้นของเมืองลําปาง จากนั้น เมืองพะเยามีเจ้าผู้ครองเมืองต่อมาอีกหลายองค์ เจ้าผู้ครองเมืององค์สุดท้ายคือ พระยาประเทศอุดรทิศ (เจ้าหนานไชยวงศ์ ศีติสาร) (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

พ.ศ. 2387 เจ้าเมืองพะเยาคนแรก ในสมัยรัตนโกสินทร์คือ เจ้าพุทธวงศ์ เจ้าหลวงวงศ์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประเทศอุดรทิศ แต่ประชาชนมักจะเรียกตามนามเดิม เช่น เจ้าหลวงวงศ์ และเป็นตำแหน่งประจำของเจ้าหลวงเมืองพะเยา ในเวลาต่อมา ต่อนั้นก็แบ่งครอบครัวชาวเมืองลำปางให้ไปอยู่เมืองพะเยา ส่วนลูกหลานพวกที่อพยพหนีพม่า จากที่เมืองพะเยาเป็นเมืองร้างไปถึง 56 ปี พากันอพยพกลับสู่เมืองพะเยา (พระธรรมวิมลโมลี, 2531)

พ.ศ. 2443 ได้เปลี่ยนชื่อให้สั้นลงเป็นมณฑลพายัพซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตแปลว่าตะวันตกเฉียงเหนือครอบคลุมพื้นที่อาณาเขตของอดีตอาณาจักรล้านนา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ได้มีการรวมหัวเมือง ประกอบด้วย 6 หัวเมือง ได้แก่ 1.) เมืองนครเชียงใหม่ (ครอบคลุมพื้นที่ เมืองแม่ฮ่องสอน และเมืองเชียงราย) 2.) เมืองนครลำปาง (ครอบคลุมพื้นที่เมืองพะเยา และเมืองงาว 3.) เมืองนครลำพูน 4.) เมืองนครน่าน (ครอบคลุมพื้นที่เมืองเชียงของ เมืองเทิง เมืองเชียงคำ และเมืองปง 5.) เมืองนครแพร่ 6.) เมืองเถิน

ขึ้นเป็น มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วจึงเปลี่ยนมาเป็นมณฑลพายัพ ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตแปลว่าตะวันตกเฉียงเหนือ (มณฑลเทศาภิบาล, th.wikipedia.org/wiki) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2443

พ.ศ. 2444 ด้วยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ เมืองพะเยาซึ่งเป็นเมืองขึ้น เมืองนครลำปาง มีอาณาเขตกว้างขวาง มีผู้คนเป็นจำนวนมากสมควรจัดให้เป็นบริเวณหนึ่ง และจัดให้มีข้าหลวงประจำบริเวณ และให้รวมเมืองพะเยา เมืองงาว รวมเมืองเข้าเป็นบริเวณหนึ่ง เรียกว่า "บริเวณพะเยา" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงศรีสมัตถการ ซึ่งรับราชการตำแหน่งผู้ช่วยกรมมหาดไทยฝ่ายพลัมภัง เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งหลวงศรีสมัตถการ เป็นข้าหลวงประจำบริเวณพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 18 : 815. 19 มกราคม รศ.120)

พ.ศ. 2453 ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า แต่เดิมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ได้จัดรวมเข้าเป็นจังหวัดเรียกว่าจังหวัดพายัพเหนือ ต่อมาเมืองเหล่านี้มีความเจริญยิ่งขึ้นจนเป็นเหตุให้เห็นว่า การที่จัดให้เป็นเพียงจังหวัดไม่พอแก่ราชการและความเจริญ สมควรจะเลื่อนชั้นการปกครองขึ้นให้สมกับราชการและความเจริญในท้องที่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สวย เมืองเชียงคำ เมืองเชียงของ ตั้งขึ้นเป็นเมืองจัตวา เรียกว่าเมืองเชียงราย อยู่ในมณฑลพายัพ ให้พระภักดีณรงค์ ซึ่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดพายัพเหนือ เป็นผู้ว่าราชการเมืองเชียงราย (แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกเมืองเชียงรายเป็นเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 : 427. 12 มิถุนายน รศ.129)

พ.ศ. 2458 มีกลุ่มชนที่มาตั้งหลักฐานในหมู่บ้านมาจากบ้านท่ากว๊าน ในต.เวียงพะเยา ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ตามหัวไร่ปลายนาประกอบอาชีพทำนา เลี้ยงสัตว์ประมาณ 10-20 ครัวเรือน ซึ่งต้นตระกูลแรกที่มาตั้งบ้านเรือนคือ ตระกูลชุ่มคำลือต่อมาเป็น ชุ่มลือ แล้วต่อมาก็มีประชากรเริ่มอพยพมาจากบ้านกาดเมฆอำเภอเมืองจังหวัดลำปางมาทำมาหากินตั้งถิ่นฐานโดยการนำเอาวัฒนธรรมการตีมีดมาด้วยจนทำให้เป็นอาชีพของชาวบ้านร่องไฮซึ่งประชากรที่อพยพมาจากลำปาง เริ่มมาเมื่อ พ.ศ. 2458

เดิมชุมชนเดิมชุมชนบ้านร่องไฮ พื้นที่ในชุมชนบ้านร่องไฮยังเป็นป่าไม้รัง ไม้ไผ่ ไม้ทองกวาว และไม้เบญจพรรณ เป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมาได้มีกลุ่มชนที่มาตั้งหลักถิ่นฐานในหมู่บ้านมาจากบ้านท่ากว๊าน ต.เวียงพะเยา ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ตามหัวไร่ปลายนาประกอบอาชีพทำนา เลี้ยงสัตว์ประมาณ 10-20 ครัวเรือน ซึ่งต้นตระกูลแรกที่มาตั้งบ้านเรือนคือ ตระกูล ชุ่มคำลือ ต่อมาเป็น ชุ่มลือ 

พ.ศ. 2460 เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศลงวันที่ 19 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2459 ให้เปลี่ยนคำว่า "เมือง" เป็น "จังหวัด" ผู้ว่าราชการเมืองเรียกว่า "ผู้ว่าราชการจังหวัด" อำเภอเรียกตามชื่อตำบลที่ตั้งว่าการอำเภอนั้น อำเภอพะเยา เปลี่ยนชื่อเรียกเป็นอำเภอเมืองพะเยา (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่ออำเภอ. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 34 : 40-68. 29 เมษายน 2460)

พ.ศ. 2465 บันทึกครูบาศรีวิลาศวชิรปัญญา วัน ๖ฯ๗-๑๒๘๓-๒๔๖๕ วันที่ ๗ เมษายน บันทึกไว้ว่า ตำบลบ่อแฮ้ว มีนายหลาน นาแพร่ เป็นกำนัน มีหมู่บ้านบ่อแฮ้ว บ้านแม่ใส บ้านร่องไฮ บ้านสันป่าถ่อน บ้านแม่ใสเหล่า การปกครองบ้านเมืองสมัยนั้นค่อนข้างลำบาก เพราะอาณาเขตของอำเภอพะเยามีเขตกว้างขวาง อำเภอพะเยา ในขณะเมื่อเริ่มมีการปกครองแบบกระจายอำนาจเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบลนั้น ได้แบ่งออกเป็น 21 ตำบล บ้านแม่ใส ยังอยู่ในตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองพะเยา (พระธรรมวิมลโมลี. ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2531.)

พ.ศ. 2478-2480 พระศุภการกำจร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอเมืองพะเยาเริ่มสำรวจกว๊านพะเยา และรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่จะใช้ประกอบการพัฒนากว๊านพะเยา ตามวัตถุประสงค์ของกรมเกษตรการประมง ในปีพุทธศักราช 2480 ปัจจุบันบุตรหลานทายาทของพระศุภการกำจรยังตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านแม่ใส

พ.ศ. 2481 อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 6, 29 และพราะราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 มาตรา 20 ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงเขตตำบล คือยุบตำบลบ่อแฮ้ว โดยรวมตำบลบ่อแฮ้ว ตำบลแม่นาเรือ และหมู่บ้านที่ 4, 5, 6, 7 ตำบลจำป่าหวาย หมู่บ้านที่ 7 ตำบลแม่ต๋ำ หมู่บ้านที่ 6 ตำบลในเวียง แล้วจัดตั้งเป็นตำบลขึ้นอีกตำบลหนึ่ง ขนานนามว่า ตำบลแม่นาเรือ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดเชียงราย (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 3449-3457. 21 มกราคม 2481 บ้านแม่ใสเดิมที่อยู่ในตำบลบ่อแฮ้วที่ถูกยุบรวม จึงเป็นบ้านแม่ใส ตำบลแม่นาเรือ อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย

และในปีเดียวกันได้เปลี่ยนชื่อเรียกอำเภอเมืองพะเยา เป็นอำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนนามจังหวัดและอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช 2481 (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 : 658 -81. 14 พฤศจิกายน 2481)

พ.ศ 2482 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พุทธศักราช 2477 เห็นสมควรกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย เพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงรายเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ (พระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย พุทธศักราช 2482. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม56 : 2204-2207 1. 22 มกราคม 2482) หลังจากนั้น กรมประมงจึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นลำน้ำอิง บริเวณด้านตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเมืองพะเยา แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2484 คือสถานีประมงพะเยาปัจจุบัน ทำให้น้ำท่วมไร่นา บ้านเรือน วัด โบราณสถาน โบราณวัตถุต่าง ๆ ในอาณาบริเวณบ้านร่องไฮเดิมก็ถูกน้ำท่วมเป็นบางส่วน ประชาชนหลายครอบครัวจึงอพยพบ้านเรือนขึ้นมาเหนือน้ำ หนองน้ำธรรมชาติขนาดเล็ก ใหญ่ จำนวน 5 หนองน้ำ คือ หนองน้ำสันธาตุร่องไฮ, หนองสันกว้าน ทุ่งกิ่ว, หนองเอี้ยง, หนองเหนียว, รวมทั้งทุ่งนาหลวง "นาทุ่งหลวง" (นาโต้งหลวง) จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็น "นาทุ่งกว๊าน" (นา โต้งกว๊าน) ในเวลาต่อมากลายเป็นกว๊านพะเยาในปัจจุบัน ได้ถูกรวมเปลี่ยนไปเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีพื้นที่เฉลี่ย 17-18 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณกว่า 12,000 ไร่ เป็นกว๊านพะเยา

ก่อน พ.ศ. 2484 หนองกว๊านจะมีน้ำมากเฉพาะฤดูฝน (กรกฎาคม-พฤศจิกายน) หลังจากนั้นน้ำจะลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือแต่ลำคลองหรือแม่น้ำที่ไหลลงกว๊านน้อยกับกว๊านหลวงเท่านั้น ส่วนหนองกว๊านทางใต้กับทางเหนือน้ำจะแห้งขอดจนเดินข้ามได้สะดวก ชาวบ้านที่อยู่ตามชนบทฝั่งตรงข้าม สามารถเดินทางไปมาเข้าสู่ตัวเมืองพะเยาได้อย่างสะดวก และมักจะนำพืชผลสินค้าทางเกษตร เช่น จำพวก ข้าว ครั่ง บรรทุกเกวียนมาขาย ส่วนแม่ค้าก็จะหาบของมาขาย เช่น จำพวกของป่า และพืชผักต่างๆ มาขายที่ตลาดในเมืองตอนเช้า (เสมียนนารี, silpa-mag.com)

ระหว่าง พ.ศ. 2482-2484 นายผล แผลงศร กลับมาดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอเมืองพะเยาอีกครั้งหนึ่ง สร้างประตูระบายน้ำกว๊านพะเยา (พระธรรมวิมลโมลี, 2531) สร้างที่ทำการของสถานีประมง ริเริ่มจัดหาทุนสร้างโรงพยาบาลเมืองพะเยา การสร้างทำนบและประตูน้ำกั้นขวางน้ำแม่อิง บริเวณส่วนที่ไหลออกจากหนองกว๊านทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อระดับน้ำถูกควบคุมโดยการปิด-เปิดประตูน้ำ จึงทำให้หนองน้ำธรรมชาติเปลี่ยนสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จากหนองกว๊านย่อย ๆ รวมกันเป็น "กว๊านพะเยา" (เสมียนนารี, silpa-mag.com)

พ.ศ. 2484 ในฤดูน้ำหลาก น้ำจากแม่น้ำอิงที่ไหลลงสู่กว๊านพะเยา ทำให้ระดับน้ำกว๊านพะเยาเพิ่มสูงขึ้นและไหลท่วมพื้นที่หมู่บ้านบริเวณชายกว๊าน จึงได้มีการจัดสร้างฝ่ายกั้นน้ำขึ้นมาเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม ในสมัยนั้นยังไม่มีสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาล เมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นจะใช้สมุนไพรในการรักษาและใช้เวทมนตร์คาถาร่วมด้วย โดยมีหมอเมืองซึ่งเป็นหมอประจำหมู่บ้านเป็นผู้ให้การรักษา

ในเวลาต่อมาพ่อท้าวใจวังได้เห็นว่า พื้นที่ทางด้านทิศใต้ของบ้านแม่ใสหลวง มีความอุดมสมบูรณ์และเหมาะสม ที่จะประกอบอาชีพเลี้ยงวัว, เลี้ยงควายและทำเป็นปางวัว ปางควาย จึงได้ย้ายครอบครัวออกไปสร้างบ้านเรือน อยู่ที่นั่น พร้อมกับได้มีคนอื่น ๆ ได้ย้ายติดตามจึงตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นใหม่อีกหนึ่งหมู่บ้าน โดยตั้งชื่อว่า "บ้านแม่ใสทุ่งวัวแดง" (ตั้งตามสภาพพื้นที่นี้มีวัวป่าซึ่งเป็น "วัวแดง" อาศัยอยู่จำนวนมาก) ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของบ้านแม่ใสหลวง ได้มีพ่อเฒ่าแสนวงศ์ ได้ย้ายครอบครัวออกไปสร้าง บ้านเรือนอยู่ที่นั่นด้วยเพราะเห็นว่าพื้นที่นี้เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ขั้นหนาแน่นเป็น "ป่าเหล่า" และมีพื้นที่ดินเหนียวที่เหมาะสมแก่การประกอบอาชีพปั้น อิฐมอญ และได้มีผู้คนได้ย้ายสร้างบ้านเรือนสมทบขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้ ก่อตั้งเป็นหมู่บ้าน "แม่ใสเหล่า" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ในระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีกลุ่มประชาชนประมาณ 40-50 ครอบครัว ได้ชักชวนกันอพยพ จากบ้านกาดเมฆ บ้านทุ่งกู่ด้าย บ้านบ่อแฮ้ว และบ้านฟ้อน ซึ่งขึ้นอยู่กับอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มาอยู่ ณ ชุมชนบ้านร่องไฮ โคยมีสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ

  1. การหลบหนีภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในขณะนั้น จังหวัดลำปางเป็น เส้นทางเดินทัพของกองทัพญี่ปุ่น และมีฐานทัพตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

  2. การแสวงหาเเหล่งทำมาหากินที่อุดมสมบูรณ์กว่าท้องถิ่นเดิม ซึ่งชาวบ้านอำเภอเมืองลำปางทราบว่า บริเวณที่ราบลุ่มทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองพะเยามีแหล่งอุดมสมบูรณ์ทั้งปลาและข้าว มีที่ดินติดลำน้ำอิง

  3. การคมนาคมติดต่อกันระหว่างชุมชนดั้งเดิมจากเมืองพะเยา กับเมืองลำปาง โดยอาศัยล้อเกวียนและวัวต่าง ในการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน โดยชาวเมืองพะเยาเอาปลาและข้าวไปแลกกับเกลือ และเครื่องโลหะอุปกรณ์การเกษตรและกสิกรรมจากเมืองลำปาง จึงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลระหว่างชุมชน มีความสัมพันธ์ฉันท์ญาติมิตรสนิทสนมกันขึ้น จึงเกิดความไว้วางใจและชักชวนกันมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านร่องไฮ

หลักฐานสำคัญของการอพยพจากแหล่งจังหวัดลำปาง คือ วัฒนธรรมและทักษะการตีมีด การทำอุปกรณ์การเกษตรด้วยเครื่องเหล็กที่มีต้นกำเนิดจากบ้านกาดเมฆและบ้านฟ่อนของอำเภอเมืองลำปาง ซึ่งปัจจุบันมีเป็นตำบลกาดเมฆและตำบลบ้านฟ่อนของอำเภอเมืองลำปาง เขตติดต่อกับอำเภอห้างฉัตรและอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ทักษะและอาชีพดังกล่าวได้ติดตามมากับบรรพบุรุษของชุมชนบ้านร่องไฮ พ่อหลวงบุญเรือง โพทา กล่าวว่า "มุยน้อย (ขวานเหล็กขนาดเล็ก) ที่มีขายที่บ้านร่องไฮในปัจจุบัน ยังต้องนำต้นแบบมาจากบ้านกาดเมฆอยู่แล้วนำมา เช่น (ตีซ้ำให้เกิดรูปร่างและความคม) ที่นี่ พวกเรายังทำตัวมุยน้อยไม่เก่งเท่าพวกกาดเมฆเลย"

"การเดินทางสมัยก่อน ต้องใช้ล้อเกวียนเดินทางจากพะเยาไปลำปาง ผ่านขุนเขาหุบห้วย ใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะถึงลำปาง แล้วต้องไปพักนอนบ้านชาวบ้าน จึงเกิดความสนิทสนมกลมเกลียวฉันท์เครือญาติ แล้วชักชวนกันอพยพมาอยู่ที่พะเยา" พ่อหลวงบุญเรือง และผู้อาวุโสท่านอื่นที่ผู้ศึกษาสัมภาษณ์นั้น ต่างกล่าวยืนยันความคิดเห็นของการสื่อสารติดต่อกันที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการอพยพ เมื่อมองย้อนหลังไปมากกว่า 60 ปี พ่อหลวงบุญเรืองได้กล่าวว่า ชุมชนแห่งนี้เคยถูกทิ้งร้างมาก่อนที่จะเป็นชุมชนบ้านร่องไฮ สังเกตได้จากการพบซากธาตุฐานเจดีย์ ฐานกำแพงรกร้าง ปรักหักพัง ติดริมกว้านพะเยาในเขตท้ายหมู่บ้าน ซึ่งมีถึง 14 จุดด้วยกัน ผู้ศึกษากับคณะพ่อหลวงได้เดินสำรวจ โบราณสถานบางจุดก็พบซากเจดีย์ปรักหักพัง และมีพระพุทธรูปหินทราย ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 12 นิ้ว เสียหายหักพัง มีรูปช้างสลักด้วยหินทราย แท่นบดยา และหัวเสาอุโบสถ ปรากฏในบริเวณเจดีย์เก่าที่มีร่องรอยของการขุดค้นของนักล่าหาของเก่า (ประกอบศิริ ภักดีพินิจ, 2545)

พ.ศ. 2489 อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย ยังไม่มีโรงพยาบาลประจำอำเภอ ประชาชนที่เจ็บป่วยต้องไปรักษาที่สุขศาลา ถ้าเจ็บป่วยที่ต้องใช้แพทย์รักษาต้องเดินทางไปยังตัวเมืองเชียงราย เป็นระยะทางที่ไกล การคมนาคมไม่สะดวก ผู้ป่วยจำนวนมากต้องเสียชีวิตเนื่องจากการคมนาคม และไม่มีรถโดยสารเข้าตัวจังหวัด ทำให้ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนในอำเภอพะเยาขระนั้น เห็นพ้องต้องกันควรจัดตั้วโรงพยาบาลขุนในอำเภอพะเยาและร่วมกันเรี่ยไรเงินบริจาคได้จำนวนหนึ่ง

พ.ศ. 2497 นายวิฑิต โภคะกุล นายอำเภอพะเยาขณะนั้น ได้เสนอโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลพะเยาต่อกระทรวงสาธารณสุข และได้รับความเห็นชอบในปี พ.ศ. 2499 รัฐบาลในขณะนั้นได้อนุมัติเงินจำนวน 1 ล้าน 5 แสนบาท รวมกับเงินบริจาคจำนวน 194,412 บาท และเงินบำรุงท้องที่อำเภอเมืองพะเยา 39,548 บาท ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2499 ได้เริ่มก่อสร้างโรงพยาบาลพะเยาขึ้น ใช้ระยะเวลาก่อสร้างนาน 6 เดือน เป็นโรงพยาบาลขนาด 25 เตียง มีแพทย์ประจำ 1 คน ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ผู้อำนวยการคนแรกคือ นายแพทย์สมบัติ อินทรลาวัณย์

พ.ศ. 2500 โรงพยาบาลพะเยาได้เปิดให้บริการ ชาวบ้านร่องไฮ ได้ใช้เรือพายมารับบริการที่โรงพยาบาลพะเยา โดยมีท่าเรือที่หลังโรงพยาบาลพะเยา

พ.ศ. 2504 การฝังศพในหมู่บ้านจะใช้กว๊านพะเยาฝั่งทิศใต้ในการฝังศพ ย้ายจากกว๊านพะเยามาใช้พื้นที่ป่าช้าของหมู่บ้านในการฝังศพ เนื่องจากน้ำในกว๊านมีปริมาณเพิ่มขึ้นมาท่วมบริเวณที่ฝังศพ ชาวบ้านกลัวว่าจะเกิดโรคระบาดจึงย้ายสถานที่และเปลี่ยนจากการฝังศพมาเป็นการเผาศพ โดยเริ่มจากการนำอิฐมาก่อต่อมาจึงเริ่มมีการสร้างเมรุและเปลี่ยนมาใช้เมรุจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2520 อำเภอเมืองพะเยาได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ฯ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจังหวัดพะเยา ตามพระราชบัญญัติ เรื่อง ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 ประกอบด้วยอำเภอ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ (พระราชบัญญัติ ตั้งจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2520 (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 94 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 69 : 1-4. 28 กรกฎาคม 2520) และมีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาคนแรก (สำนักงานจังหวัดพะเยา) และในปีเดียวกันนั้นได้เริ่มก่อตั้งสำนักงานผดุงครรภ์อนามัยแม่ใส

พ.ศ. 2522 ตั้งตำบลแม่ใส โดยแยกออกมาจากตำบลแม่นาเรือ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 96 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 142 : 1-17. 16 สิงหาคม 2522 

ตั้งตำบลแม่ใส โดยโอนหมู่บ้านที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 18 ตำบลแม่นาเรือ ตั้งเป็นตำบลแม่ใส อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา จำนวน 7 หมู่บ้าน ดังนี้

  • หมู่ที่ 1 โอนจากหมู่ที่ 1 (บ้านร่องไฮ) ตำบลแม่นาเรือ

  • หมู่ที่ 2 โอนจากหมู่ที่ 2 (บ้านแม่ใส) ตำบลแม่นาเรือ

  • หมู่ที่ 3 โอนจากหมู่ที่ 3 (บ้านแม่ใสทุ่ง) ตำบลแม่นาเรือ

  • หมู่ที่ 4 โอนจากหมู่ที่ 4 (บ้านแม่ใสเหล่า) ตำบลแม่นาเรือ

  • หมู่ที่ 5 โอนจากหมู่ที่ 5 (บ้านบ่อแฮ้ว) ตำบลแม่นาเรือ

  • หมู่ที่ 6 โอนจากหมู่ที่ 6 (บ้านสันป่าถ่อน) ตำบลแม่นาเรือ

  • หมู่ที่ 7 โอนจากหมู่ที่ 18 (บ้านสันช้างหิน) ตำบลแม่นาเรือ

ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2522 เป็นต้นไป (ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา. (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 96 ฉบับพิเศษ ตอนที่ 142 : 1-17. 16 สิงหาคม 2522)

พ.ศ. 2541 เนื่องด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กำหนดเขตตำบลภายในท้องที่ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 กำหนดเขตตำบลแม่ใส ในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดยให้มีเขตการปกครองรวม 8 หมู่บ้าน ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนพิเศษ 93 ง : 214 - 247. 12 ตุลาคม 2541

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดกับ กว๊านพะเยา

  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านร่องคำน้อย ตำบลแม่นาเรือ และพื้นที่ตำบลแม่กา อ.เมือง จ.พะเยา

  • ทิศตะวันออก ติดกับ แม่ต๋ำบุญโยง ตำบลแม่ต๋ำ อ.เมือง จ.พะเยา

  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านซ่อน ตำบลแม่นาเรือ และบ้านห้วยลึก ตำบลตุ่น อ.เมือง จ.พะเยา

แหล่งอ้างอิง 

https://wikicommunity.sac.or.th/   วิกิชุมชน

ประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง พระเทพวิสุทธิเวที เรียบเรียง พ.ศ.2531

 

 

.